บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ มีความสนใจที่จะนำวัสดุ Silicon (ซิลิคอน) มาใช้เป็นขั้วไฟ Anode (แอโนด) แทนที่วัสดุ Graphite (แกรไฟต์) เพราะว่า Silicon นั้นสามารถกักเก็บพลังงานได้มากกว่า Graphite ถึง 5 เท่าตัว แต่สาเหตุที่ไม่สามารถเลือกใช้ Silicon มาทำเป็นขั้วไฟ Anode ก็เพราะว่า วัสดุประเภทนีัจะเกิดการขยายขนาดขึ้นถึง 400% ในระหว่างที่มีการชาร์จแบตฯ และเกิดการปริแตกในที่สุด ทำให้อายุการใช้งานแบตฯ สั้นลงเป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้อุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ เลือกใช้วัสดุ Graphite มาผลิตเป็นขั้วไฟ Anode แทน (ดูภาพด้านล่างประกอบ)
หลักการทำงานของแบตเตอรี่คือ ภายในตัวมันจะมีขั้วไฟฟ้าอยู่ 2 ด้าน โดยขั้วไฟฟ้าด้านหนึ่งเรียกว่า Cathode (แคโทด) ที่ผลิตขึ้นจากวัสดุ Lithium (ลิเทียม) ทำหน้าที่เก็บประจุไฟฟ้าขั้วบวก และขั้วไฟฟ้าอีกด้านหนึ่งเรียกว่า Anode (แอโนด) ทำหน้าที่เก็บประจุไฟฟ้าขั้วลบ และในขณะที่เราทำการชาร์จแบตฯ (Charge) ประจุไฟฟ้าขั้วลบจะไหลจาก Cathode กลับไปเก็บอยู่ที่ Anode และในขณะที่มีการใช้พลังไฟจากแบตฯ (Discharge) ประจุไฟฟ้าขั้วลบจะไหลออกจาก Anode ผ่านวงจรไฟฟ้าที่อยู่ภายนอกแบตฯ (อย่างเช่น วงจรไฟฟ้าของสมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์อื่นๆ) แล้วประจุไฟฟ้าขั้วลบจะไหลกลับมาเก็บอยู่ใน Cathode